การสูญเสียการได้ยิน
ภาวะการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางเสียงมักเกิดจากการประกอบอาชีพที่มีการสัมผัสระดับเสียงจากอุตสาหกรรมหนักหรือมีสิ่งแวดล้อมในพื้นที่การทำงานที่มีระดับเสียงดังมากๆ และมีการสัมผัสเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน อาการของการสูญเสียการได้ยินก็คือสมรรถภาพการรับรู้เสียงจะค่อยๆเสื่อมลง โดยจะเห็นได้ชัดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงซึ่งจะเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้างและจะมีอาการเพิ่มขึ้นทุกปี ผลกระทบของภาวะการสูญเสียการได้ยินที่เห็นได้ชัดเจนคืออุปกสรรคและความยากลำบากในการสื่อสาร จึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคในช่องหูและไม่อยู่ในที่เสียงดังหรือสัมผัสเสียงที่อาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้
การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว
การสูญเสียการได้ยินหรือการเสื่อมของประสาทหูจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวเป็นอาการเสื่อมการได้ยินที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานๆ หรือได้รับเสียงดังที่สม่ำเสมอและมีความเข้มเสียงสูงถึงขีดอันตรายอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เซลล์ประสาทหูมีอาการล้าจนไม่สามารถประมวลผลสัญญาณการสั่นสะเทือนเป็นคลื่นประสาทได้ เกิดภาวะหูตึงชั่วคราว (Auditory fatigue) ซึ่งอาการผิดปกตินี้สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้หลังจากหยุดสัมผัสเสียงภายใน 1-2 วัน
การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสเสียงดังติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลานานภายหลังจากมีอาการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวจนทำให้ประสาทหูถูกทำลาย และเกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรแม้จะหยุดรับการสัมผัสเสียงไปแล้วก็ตาม และไม่สามารถกลับคืนสภาพปกติหรือรักษาให้หายได้ โดยในระยะแรกการสูญเสียการได้ยินจะเริ่มเสียที่ช่วงความถี่เสียง 3,000-6,000 Hz และที่พบส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยินมากที่สุดในความถี่ 4,000 Hz และขยายออกไปที่ช่วงความถี่ของการสนทนาคือ 500-2,000 Hz ทำให้ไม่สามารถรับฟังเสียงพูดได้อย่างชัดเจน
สถิติเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยิน
รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าคนงานที่ทำงานสัมผัสเสียงดังมากกว่า 85 dBA ใน 8 ชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน จะเริ่มปรากฎอาการของการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังอย่างชัดเจน จากสถิติในต่างประเทศเมื่อคนเรามีอายุประมาณ 65-70 ปีขึ้นไปจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 สำหรับผู้ที่ทำงานและได้รับเสียงดังอย่างต่อเนื่อง โดยปีแรกๆอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งผ่านไป 2-30 ปี จึงจะเริ่มสังเกตอาการได้ และเสียงที่ดังเกินกว่า 130 dBA จะทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดและอวัยวะในหูอื่นๆเสียหาย